ตำนานมหาสงกรานต์
 
จากหนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ ปีที่ 2 ฉบับพิเศษ วันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ.2547 www.posttoday.com
 
ประกาศสงกรานต์
ปีพุทธศักราช 2547

     ปีวอก (ผีเสื้อผู้ชาย ธาตุเหล็ก) ฉอศก จุลศักราช 1366 ทางจันทรคติ เป็น อธิกมาส ทางสุริยคติ เป็น อธิกสุรทิน วันที่ 13 เมษายน เป็น วันมหาสงกรานต์ ตรงกับ ณ วันอังคาร แรม 9 ค่ำ เดือน 5 เวลา 17 นาฬิกา 36 นาที
       นางสงกรานต์ ทรงนามว่า รากษสเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จนั่งมาเหนือหลังราหะ (หมู) เป็นพาหนะ
        วันที่ 15 เมษายน เวลา 22 นาฬิกา 03 นาที เปลี่ยนจุลศักราชเป็น 1366 ปีนี้ วันศุกร์ เป็นธงชัย วันศุกร์ เป็นอธิบดี วันพฤหัสบดี เป็นอุบาทว์ วันอาทิตย์ เป็นโลกาวินาศ

        ปีนี้ วันพุธ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 600 ห่า ตกในเขาจักรวาล 240 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 180 ห่า ตกในมหาสมุทร 120 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 60 ห่า นาคให้น้ำ 5 ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินา จะได้ผล 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศี วาโย (ลม) น้ำน้อย

 
ตำนานนางสงกรานต์   

     ตำนานนางสงกรานต์ ซึ่งจารึกอยู่ที่วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ระบุว่า นางสงกรานต์ทั้ง 7 เป็นธิดาของ ท้าวกบิลพรหม หรือ ท้าวมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์จะมีชื่อตามวัน ทัดดอกไม้ ทรงเครื่องประดับ มีอาหาร อาวุธ และพาหนะ ต่างกันดังนี้
     วันอาทิตย์ นางทุงษเทวี ทัดดอกทับทิม ประดับปัทมราช (พลอยสีแดง/ทับทิม) อาหาร อุทุมพร (มะเดื่อ) อาวุธคือ จักร และสังข์ พาหนะคือ ครุฑ
     วันจันทร์ นางโคราคเทวี ทัดดอกปีบ ประดับมุกดาหาร (ไข่มุก) อาหารน้ำมันเนย อาวุธ คือ พระขรรค์ และไม้เท้า พาหนะ คือ พยัคฆ์ (เสือ)
     วันอังคาร นางรากษสเทวี ทัดดอกบัวหลวง ประดับคือ โมรา อาหาร คือโลหิต อาวุธ คือ ตรีศูล ธนู พาหนะคือ วราหะ (หมู)
     วันพุธ นางมณฑาเทวี ทัดดอกจำปา ประดับไพฑูรย์ อาหารนมเนย อาวุธ คือ ไม้เท้า และเหล็กแหลม พาหนะ คือ คัทรภะ หรือ คัสพะ (แพะ หรือลา)
     วันพฤหัสบดี นางกิริณีเทวี ทัดดอกมณฑา ประดับ คือ แก้วมรกต อาหาร คือถั่วงา อาวุธ คือ ขอช้าง และปืน พาหนะ คือ กุญชร (ช้าง)
     วันศุกร์ นางกิมิทาเทวี ทัดดอกจงกลนี (บัวคล้ายบัวเข็ม) ประดับ บุษราคัม อาหาร คือกล้วยน้ำ อาวุธ พระขรรค์ และพิณ พาหนะ คือ มหิงส์ (ควาย)

วันจันทร์ นางโคราคเทวี

     วันเสาร์ นางมโหธรเทวี ทัดดอกสามหาว (ผักตบ) ประดับนิลรัตน์ อาหาร คือ เนื้อทราย อาวุธ คือจักร และตรีศูล พาหนะ คือ มยุระ (นกยูง)

     นางสงกรานต์แต่ละปีจะทรงพาหนะมาในท่าใดท่าหนึ่ง ใน 4 ท่าเท่านั้น คือ ยืน นั่ง นอนลืมตา และนอนหลับตา เป็นการบอกให้ทราบว่า วันมหาสงกรานต์ หรือวันปีใหม่ของไทย ซึ่งจะนับตั้งแต่วันที่พระอาทิตย์ย่างเข้าสู่ราศีเมษ ตามการคำนวณของโหรเป็นเวลาใด ถ้ามาเช้า หรือสาย ๆ ก็จะยืนมาบนพาหนะ หากมาตอนบ่าย หรือเย็นก็นั่งหรือขี่มา ถ้ามาตอนค่ำ ยังไม่ถึงเที่ยงคืนก็นอนลืมตามา แต่ถ้าหลังเที่ยงคืนไปแล้ว ก็จะนอนหลับตามา
     ส่วนอาหาร และอาวุธของนางสงกรานต์ เป็นเครื่องบอกถึงแนวโน้มความเป็นอยู่ และสถานการณ์บ้านเมือง เช่น กินเลือดก็ว่าจะมีการเสียเลือดเนื้อ กินถั่วงา ก็แสดงว่า ข้าวปลาจะอุดมสมบูรณ์
     ตามตำนานเมื่อถึงวันสงกรานต์ ธิดาของท้าวกบิลพรหม ก็จะผลัดเวรกันเชิญศีรษะของบิดาจากมณฑปถ้ำคันธุลีเขาไกรลาสไปแห่รอบเขาพระสุเมรุ จากนั้นจึงอัญเชิญมาประดิษฐานที่เดิม

วันอังคาร นางรากษสเทวี

     ท้าวกบิลพรหมตัดศีรษะของตนบูชาธรรมบาลกุมาร เนื่องจากได้ท้าธรรมบาลกุมารให้ตอบปริศนา 3 ข้อ โดยมีศีรษะของแต่ละฝ่ายเป็นเดิมพัน คำถามนั้นมีอยู่ว่า เข้าราศี (ความอิ่มเอิบ ความภาคภูมิ) อยู่ที่ใด เที่ยง ราศี อยู่ที่ใด ค่ำ ราศีอยู่ที่ใด ท้าวกบิลพรหมทะนงตนว่า เป็นผู้ทำหน้าที่แสดงมงคลทั้งปวงแก่มนุษย์ เชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร ซึ่งเรียนจบไตรเพทในขณะที่อายุเพียง 7 ปี ได้รับนับถือเป็นอาจารย์บอกมงคลการต่าง ๆ แก่มนุษย์อีกผู้หนึ่ง จะไม่มีปัญญาตอบปัญหาอันลึกซึ้งนี้ได้ ซึ่งก็เป็นจริง เพราะธรรมบาลกุมารเฝ้าคิดคำตอบอยู่ถึง 6 วัน ก็ยังตอบไม่ได้ กระทั่งไปนอนอยู่ใต้ต้นตาล จึงได้ยินนกอินทรี 2 ตัว คุยกันว่า....

     "รุ่งขึ้นจะได้กินศพธรรมบาลกุมารเป็นอาหาร เพราะตอบไม่ได้ว่า เช้าราศีอยู่ที่หน้า เที่ยงราศีอยู่ที่อก ค่ำราศีอยู่ที่เท้า เพราะราศีสถิตดังว่า เช้ามนุษย์จึงเอาน้ำล้างหน้า เที่ยงจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ค่ำมนุษย์จึงเอาน้ำล้างเท้า"

     ธรรมบาลกุมารจึงได้คำตอบนั้นมาแก้ปัญหาท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมจึงต้องเสียศีรษะ แต่เนื่องจากพระอินทร์สั่งไว้ว่า "หากตั้งศีรษะของท้าวกบิลพรหมไว้ในแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้ทั่วโลก หากทิ้งในอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง"  จึงต้องประดิษฐานไว้ดังกล่าว.....

วันพุธ นางมณฑาเทวี

     คำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสฤต แปลว่า "ก้าวขึ้น" "ผ่าน" หรือ "เคลื่อนย้าย" อันหมายถึง การเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์เข้าไปในจักรราศีใดราศีหนึ่ง แต่การเคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษในเดือนเมษายนนั้น เป็นการย้ายเข้าสู่รอบปีใหม่ทางสุริยคติในทางโหราศาสตร์ จึงจะเรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" อันหมายถึงการก้าวขึ้นครั้งใหญ่ ซึ่งมักจะตกอยู่ในช่วงวันใดวันหนึ่งระหว่างวันที่ 13 , 14 หรือ 15 เมษายน แต่โดยมากแล้วมักจะตกอยู่ในวันที่ 13 เมษายน จึงถือว่า วันนี้เป็นวันมหาสงกรานต์ วันถัดไปเรียกว่า "วันเนา" แปลว่า วันอยู่ หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ อันเป็นราศีตั้งต้นปี เข้าที่เข้าทางแล้ว ถัดไปอีกวัน เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ หรือวันเริ่มศักราชใหม่ จึงเรียกว่า "วันเถลิงศก"
    
     เดิมนั้นบรรพชนของเราถือว่า วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นการเริ่มปีใหม่ ในปี พ.ศ.2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ กระทั่งปี พ.ศ.2483 รัฐบาล จอมพลป.พิบูลสงคราม จึงประกาศให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2484 จึงมีวันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันที่ 1 มกราคม ตามแบบสากลนิยม

วันพฤหัสบดี นางกิริณีเทวี

 แต่เทศกาลสงกรานต์ก็ยังเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทยเรา และเป็นประเพณีที่สำคัญของคนไทยมาถึงทุกวันนี้

 
วันศุกร์ นางกิมิทาเทวี วันเสาร์ นางมโหธรเทวี วันอาทิตย์ นางทุงษเทวี

 

จากหนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ ปีที่ 2 ฉบับพิเศษ วันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ.2547 www.posttoday.com
ออกแบบ : วุฒิกร  บูรณะนนท์
ภาพประกอบ : จรัญญา ศรีสว่าง จุฬารัตน์  นาควิโรจน์ ชัชวาลย์ ผ่องแผ้ว  ทวนชัย อาจไพรินทร์
 
Back
หน้าหลัก
เก็บมาฝาก
Next
 
ชมรมผู้เลี้ยงและผู้ฝึกสุนัข เอส.เจ.ฯ/K9