เก็บมาฝาก
 

หมอเถื่อน

"อย่าฝากชีวิตสัตว์เลี้ยงที่ท่านรัก ไว้กับคนที่ไม่สามารถตรวจสอบได้"

 
 
จากนิตยสาร : สื่อรักสัตว์เลี้ยง   
ปีที่ 9 ฉบับที่ 101 ประจำเดือนกรกฎาคม 2546 หน้า 182
คอลัมน์ : สนุกชะมัดเรียนสัตวแพทย์
 

     เสียงกริ่งโทรศัพท์ที่ดังขึ้นมากลางดึก ทำให้ผู้เขียนต้องงัวเงียขึ้นมารับ พลางนึกฉุนในใจว่า ใครนะโทรมาดึก ๆ ดื่น ๆ คนจะหลับจะนอน พอรับ ยกหูก็มีเสียงละล่ำละลักมาตามสาย พอจับใจความว่า เป็นป้าที่มีบ้านอยู่ถัดไปอีก 3 หลัง ที่โทรมาตอนดึกเพราะว่า สุนัขที่บ้านแกคลอดไม่ออก เห็นเบ่งมา 2 ชั่วโมงแล้ว ให้ไปดูให้ที

 


รูปจากหนังสือ
สื่อรักสัตว์เลี้ยง

     เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้เขียนนึกถึงตอนไปฝึกงานครั้งแรก เมื่อปี 2544 ที่ตัดสินใจไปฝึกงาน เพราะว่าน้าแท้ ๆ ที่ทำงานอยู่ในตลาดบางแค มักจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับสุนัขจรจัดในตลาดมาเล่าให้ฟังเสมอ ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจำนวนสุนัขที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาสุนัขมดลูกเป็นหนอง ( Pyometra ) ปัญหาสุนัขกัดผู้คนที่มาเดินซื้อของในตลาด ฯลฯ ซึ่งสร้างปัญหาอย่างมากให้กับผู้คนที่อยู่บริเวณนั้น และไม่มีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างจริง ๆ จัง ๆ ผู้เขียนก็เลยมีความคิดว่า ไหน ๆ เราก็เรียนสัตวแพทย์แล้ว ถ้าหากเราฉีดยาเป็น (ตอนนั้นยังฉีดยาไม่เป็นเพราะว่าพึ่งขึ้น Pre-clinic ) จะเอาวัคซีนมาฉีดป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดยาคุมกำเนิด ถ้าทำอย่างนั้นได้คงจะลดปัญหาสุนัขจรจัดในตลาดบางแคลงไม่มาก็น้อย...  พอคิดเสร็จด้วยความเป็นวัยรุ่นใจร้อนก็ไปฝึกงานทันที สถานที่ฝึกงานแห่งแรกที่ไปคือ ศูนย์สงเคราะห์สัตว์เลี้ยงที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ที่รวบรวมสุนัขจกจัดจาก กทม. เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ มีนิสิตไปฝึกงาน 13 คน ภายใต้การดูแลของ อ.น.สพ.ธานินทร์  สันติวัฒนธรรม และ อ.สพ.ญ.นลิน อารียา 7 วันที่ฝึกงานนั้น เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการทั้งในเรื่องของ การจัดการสถานที่เลี้ยง อาหาร กรงขัง สภาพแวดล้อม จนถึงการจัดการเกี่ยวกับสุขภาพสัตว์ไม่ว่าจะเป็นการรับสัตว์ใหม่เข้ามา การทำโปรแกรมวัคซีน การถ่ายพยาธิ และการทำหมัน ภายในศูนย์สงเคราะห์สัตว์เลี้ยง มีโรงพยาบาลสัตว์ ชื่อว่า "โรงพยาบาลสัตว์ทุ่งสีกัน" ในหนึ่งสัปดาห์จะมีสัตวแพทย์จากในเมืองเข้าไปดูแลสัตว์ป่วย 2 ครั้ง

 

     พวกเราถูกสอนให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งอยู่ในความดูแลของอาจารย์ทั้ง 2 ท่าน ครั้งแรกที่ได้จับเข็ม Draw ยา และสามารถฉีดยาได้ มันทำให้รู้สึกฮึกเหิมอยู่ในใจว่า ข้าเป็นหมอนะ ฉีดยาเป็นแล้ว เดี๋ยวจะไปฉีดยาให้กับสุนัขคนนั้น คนนี้ สารพัดที่จะคิด โดยมองข้ามสิ่งสำคัญไปคือ คุณเรียนสัตวแพทย์ก็จริง แต่ว่าคุณยังไม่ใช่สัตวแพทย์นะ เรียนก็ยังไม่จบ ความรู้ในวิชาชีพก็มีขี้ปะติ๋ว ขนาดจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ บางอย่าง เช่น ฟองอากาศในหลอดฉีดยา ทั้ง ๆ ที่พยายามไล่ออกไปแล้ว แต่ด้วยความที่เป็นมือใหม่ก็ยังคงมีฟองอากาศ ฟองเล็ก ฟองน้อย ให้เป็นอยู่ประปราย และไอ้ฟองอากาศฟองเล็ก ๆ เนี่ย อาจจะทำให้เกิดปัญหา air emboli ได้ หรือถึงแม้ว่า มันอาจจะไม่สร้างปัญหา แต่การที่คนที่จะมาเป็นหมอรักษาสัตว์ถือเข็มฉีดยาที่มีฟองอากาศอยู่เต็ม ก็เป็นเรื่องที่ไม่ Smart นัก

 

     จนแล้วจนรอด หลังจากกลับจากฝึกงานจนถึงวันนี้ก็สองปีแล้ว ผู้เขียนก็ยังไม่สามารถไปฉีดยาให้สุนัขของคนนั้น คนนี้ อย่างที่ตั้งใจไว้ได้ เพราะตระหนักดีว่า ตนเองยังไม่มีความรู้เพียงพอที่จะทำ ประสบการณ์ก็ยังไม่มี หากว่าเกิดอะไรขึ้น จะรับผิดชอบไม่ไหว คำพูดของอาจารย์ยังคงก้องอยู่ในหัว....
     "เรียนให้จบแล้วทำงานให้เต็มที่ดีกว่า อย่าเป็นหมอเถื่อนเลยนะ"

     การฉีดยานั่นน่ะ ง่ายนิดเดียว ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงก็เป็นแล้ว คนที่เรียนสัตวแพทย์อุตสาห์เล่าเรียนตั้ง 6 ปี ถึงจะสามารถฉีดยาสัตว์ และทำการรักษาสัตว์ได้
ถ้าจะให้คนบางคนที่ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงในการฝึกหัด มาทำหน้าที่แทนสัตวแพทย์ แล้วจะเรียนทำไมตั้ง 6 ปี


รูปจากหนังสือ
สื่อรักสัตว์เลี้ยง

 

 

     ผู้เขียนเชื่อว่า คนที่เรียนสัตวแพทย์มา 3-4 ปี โดยพื้นฐานแล้ว เขาสามารถดูแลสุนัขเบื้องต้นได้ สามารถฉีดยาได้ รู้และสามารถเลือกใช้ยาบางชนิดได้ สามารถดูแลสุนัขตนเองได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คุณจะไปรับจ๊อบดูแลสุนัขคนอื่นได้ เพราะคุณยังไม่มีความรู้เพียงพอที่จะแก้ปัญหาเกี่ยวกับสัตว์ และโรคสัตว์ได้ทุกอย่าง ที่สำคัญคุณยังไม่มีใบประกอบโรคศิลป์ หากเกิดความผิดพลาดขึ้นมาคุณสามารถรับผิดชอบไหวหรือ
    
     มีอยู่ครั้งหนึ่งที่คนรู้จักเรียกผู้เขียนให้ไปฉีดยาคุมกำเนิดให้กับสุนัขของแกหน่อย ผู้เขียนก็พยายามบอกว่า ให้พาไปหาสัตวแพทย์นะ ประกอบกับตอนนั้นผู้เขียนไม่ค่อยว่างด้วย สองเดือนถัดมาได้ข่าวว่า สุนัขเกิดมดลูกเป็นหนองขึ้นมา แกก็โวยวายใหญ่เลยนะว่า หมอทำให้สุนัขของแกเป็นอย่างนี้ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาผ่าตัดตามมาอีก ทั้ง ๆ ที่สัตวแพทย์คนนั้นก็พยายามอธิบายว่า การที่สุนัขเกิดมดลูกอักเสบมันมีหลายสาเหตุ สัตว์อยู่ในที่สกปรกก็สามารถเป็นได้ ลองคิดดูสิค่ะว่า นี่ขนาดหมอเป็นคนทำนะ ถ้าตอนนั้นผู้เขียนเป็นคนไปซื้อยามาแล้วฉีดยาให้ แล้วเกิดปัญหาอย่างนี้ ผู้เขียนคงแก้ปัญหาไม่ถูก และคงหมดความมั่นใจที่จะทำอะไรหลาย ๆ อย่าง

     คืนนั้นผู้เขียนไปดูสุนัขเหมือนกัน แต่บอกให้เจ้าของพาไปคลินิกใกล้บ้าน โดยที่ผู้เขียนได้ตามไปดูด้วยพอเห็นว่า ปลอดภัยแล้วจึงกลับบ้าน ปัจจุบันนี้มีหมอเถื่อนมากมาย บางทีมีรถเร่ฉีดยากับพิษสุนัขบ้าตามหมู่บ้าน ตรวจสอบดูสักนิดนะคะว่า เป็นใครมาจากไหน อย่าฝากชีวิตสัตว์เลี้ยงที่ท่านรักไว้กับคนที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ สำหรับพวกเรานิสิตสัตวแพทย์เอง อย่าทำตัวเป็นหมอเถื่อนซะเองเลย เรียนให้จบแล้วทำงานให้เต็มที่ดีกว่า เมื่อเลือกมาเรียนสัตวแพทย์แล้ว คงไม่อยากให้ใครมาลบหลู่ดูหมิ่น คงไม่อยากให้ใครนำชื่อวิชาชีพมาหากินในทางมิชอบ ดังนั้นเราต้องช่วยกันดำรงวิชาชีพไว้ เรียนให้เต็มที่ สนุกกับชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยให้เต็มที่ พอจบไปแล้วก็ทำงานอย่างเต็มที่ และเป็นสัตวแพทย์ที่ดี...สวัสดีค่ะ

 

จากนิตยสาร : สื่อรักสัตว์เลี้ยง   
ปีที่ 9 ฉบับที่ 101 ประจำเดือนกรกฎาคม 2546 หน้า 182
คอลัมน์ : สนุกชะมัดเรียนสัตวแพทย์
 
Back
หน้าหลัก
เก็บมาฝาก
Next
 
ชมรมผู้เลี้ยงและผู้ฝึกสุนัข เอส.เจ.ฯ/K9