เก็บมาฝาก
 
บทที่ 10
สุนัขเฝ้าบ้าน
 
จากหนังสือ : จิตวิทยาการเลี้ยงและการฝึกสุนัขใช้งาน  
โดย : อาจารย์บรรยง  ( อาจารย์บรรยง  ธนทวิกร ประธานชมรมผู้เลี้ยงและผู้ฝึกสุนัข เอส.เจ./K9 )
บทที่ 10 เรื่อง สุนัขเฝ้าบ้าน หน้า140
 

     หลายคนอาจมีความสงสัยว่า  สุนัขมีความรู้สึกเป็นเจ้าเข้า  เจ้าของ หวงแหนบ้าน และสมบัติในบ้านของมันมากน้อยสักแค่ไหน  ผู้เขียนคิดว่า ความรู้สึกนี้มีจริง  และค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาตามวัย  และตามพันธุ์ของสุนัขด้วย บางพันธุ์พัฒนาได้เร็ว และสามารถฝึกเป็นสุนัขอารักขาทรัพย์สินได้ดีกว่าพันธุ์อื่น ๆ ปกติแล้วสุนัขที่อายุน้อยกว่า 12 เดือนแทบจะไม่มีความรู้สึกหวงแหนนี้เลย ดังนั้นถ้าลูกสุนัขอายุ  5  เดือนของคุณไม่เคยเห่าคนแปลกหน้า  ใครจะหยิบอะไรไปก็ไม่หวง   คุณก็ไม่จำเป็นจะต้องเดือนเนื้อร้อนใจว่า เลี้ยงสุนัขไว้เสียข้าวสุก ตรงกันข้าม ถ้ามันเห่า และหวงของเก่ง ตั้งแต่อายุเท่านั้นก็ให้ระวังไว้ให้ดี เพราะแสดงว่ามันผิดปกติ อาจกลายเป็นสุนัขดุร้าย กัดไม่เลือกหน้าเมื่อโตขึ้น สุนัขเซนต์เบอร์นาดร์ใช้เวลาเกือบ 2 ปี จึงจะพัฒนาความรู้สึกนี้ขึ้นมาเต็มที่ ในขณะที่สุนัขเทอร์เรียมีตั้งแต่ยังไม่ครบขวบดีด้วยซ้ำ

 

     วิธีการเลี้ยงดูก็มีผลต่อพัฒนาการของความรู้สึกเป็นเจ้าของด้วย  สุนัขที่เติบโตมาในบ้านอยู่ใกล้ชิดกับเจ้าของ และสุนัขที่เลี้ยงปล่อยให้อยู่ในสนามตามลำพังนาน ๆ จะมีทัศนคติต่อการดูแลบ้าน ปกป้องทรัพย์สินต่างกัน  ในช่วงอายุ 6 เดือนแรก   ลูกสุนัขทุกตัว (เว้นแต่ตัวที่ขี้กลัวมาก ๆ) จะเป็นมิตรกับคนทุกคนไม่เลือกว่า เป็นเจ้าของบ้าน หรือคนแปลกหน้า มันจะชอบเล่นสนุก เอะอะมะเทิ่งไปตามเรื่อง สุนัขที่ถูกปล่อยไว้ตัวเดียวในสนามนานเข้าจะเริ่มหยุดหงิดใช้วิธีส่งเสียงเห่าแก้เหงา แรก ๆ จะเห่าเฉพาะคนที่เข้ามาในเขตบ้าน มันเริ่มรู้สึกสนุกเมื่อพบว่า คนตกใจเสียงเห่า และหยุดเดิน สุนัขรู้สึกว่า มันมีอะไรดีทำให้คนกลัวได้ เริ่มเพาะความรู้สึกดูถูก ไม่นับถือมนุษย์ขึ้นในใจ ขั้นต่อไปมันจะเลยไปเห่าคนที่เดินผ่านไปมา  เห่ารถยนต์  รถจักรยานยนต์ สุนัข และอะไรก็ตามที่เคลื่อนที่บางทีก็วิ่งขึ้นลงเลาะริมรั้วทำขนตั้งพอง  และเห่าเสียงขรม เพื่ออวดให้เห็นกันทั่วว่า มันเก่ง แน่กว่าคนอื่น

ปกหนังสือ จิตวิทยาการเลี้ยง และการฝึกสุนัขใช้งาน

 
 

     เมื่อเวลาผ่านไปมันจะกล้ามากขึ้น  วิ่งเข้าไปเห่าคนที่โผล่เข้าเขตรั้วมาใกล้ ๆ เหยื่อประจำได้แก่ บุรุษไปรษณีย์ หรือคนส่งของ  เวลาตกใจคนเหล่านี้จะยกของที่ถือมาขึ้นสูงไม่ให้สุนัขคาบไปได้  สุนัขมองว่า  ท่าตกใจกระโดดโหยงยกของขึ้นนี้เป็นสัญญาณแห่งความอ่อนแอของคน ทำให้มันได้ใจยิ่งทำท่าดุร้ายเพิ่มขึ้น  เห่าดังยิ่งกว่าเก่า  ต่อให้คนในบ้านออกมาห้ามปรามอย่างไรก็ไม่สนใจเมื่อหมดธุระบุรุษไปรษณีย์จะถอยออกไปตามระเบียบ ปิดประตูใส่หน้าไม่ให้สุนัขตามออกไปด้วย ถึงตอนนี้มันจะอารมณ์เสียเพราะคู่อริหนีรอดไปได้แถมยังปิดประตูขังอีก  แขกรายต่อไปที่มาบ้านกลายเป็นผู้โชคร้าย เพราะมันจะระบายความโกรธเข้าใส่ เห่าอย่างดุเดือด และกัดอีกด้วย

     สุนัขประเภทนี้ไม่ได้เห่าเพราะหวงบ้านไม่ให้คนแปลกหน้าเข้า  แต่เห่าเพื่อแสดงอำนาจเหนือมนุษย์  ถ้าไม่รีบฝึกให้เชื่อฟังคำสั่งเสียแต่ต้น มันจะยิ่งดุร้ายมากขึ้น   แม้แต่เจ้าของก็เอาไม่อยู่  สุนัขจะยิ่งสนุกใหญ่ เพราะชนะทั้งคนแปลกหน้าทำให้กลัว และทำให้เจ้าของบ้านหัวปั่นได้ในเวลาเดียวกัน

     สุนัขที่เลี้ยงอยู่แต่ในบ้านจะต่างออกไป  มันรู้แน่ชัดว่า อาณาเขตของมันอยู่แค่ไหน สิ่งที่มันเป็นเจ้าของต้องคอยปกป้องดูแลคือตัวบ้าน ไม่ใช่สนามหญ้า ควรฝึกให้สุนัขเห่าเตือน   เมื่อมีคนมาที่ตัวบ้านสักพักหนึ่งจึงสั่งให้ "หยุดเห่า" และ "หมอบลง" ถ้าไม่เชื่อฟังใช้วิธีกระตุกโซ่คอบังคับ สุนัขจะค่อย ๆ เรียนรู้ว่าการเห่าครั้งแรกเป็นสิ่งที่ถูกต้องได้รับการชมเชย แต่ถ้าเห่าต่อไปเรื่อย ๆไม่ยอมหยุดเป็นถูกลงโทษ  ถ้ามีปัญหาสั่งให้หยุดไม่ได้อยู่  อาจเป็นเพราะสุนัขตื่นเต้นมากเกินไป ให้แก้ไขโดยสั่งหมอบนานประมาณ 10 นาที ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทต้น ๆ การหมอบเป็นวิธีที่ดี ที่สุด ที่จะทำให้สุนัขสงบ สุนัขที่เห่าไม่เลือกไม่ว่ามีคนมา โทรศัพท์ดัง หรือได้ยินเสียงแปลก ๆ ส่วนใหญ่เห่าเพราะ  ความตื่นเต้น  และมักเตือนตัวเองให้หยุดไม่ได้

     สำหรับคำถามที่ว่า สุนัขรู้หรือไม่ว่าใครมาดี หรือมาร้าย  ผู้เขียนคิดว่า สุนัขบางตัวเท่านั้นที่รู้ได้โดยสัญชาติญาณพิเศษบางอย่าง แต่ส่วนใหญ่แล้วมันจะแยกแยะคนโดยกลิ่น ผู้ที่ประสงค์ร้ายโดยเฉพาะขโมยจะกลัวถูกจับได้  รู้สึกตื่นเต้นทำให้กลิ่นตัวแรงกว่าปกติ สุนัขได้กลิ่นนี้แล้วรู้สึกว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากลจึงตื่นเต้น และก้าวร้าวมากขึ้น บางครั้งคนที่มาดีแต่ไม่ชอบสุนัขก็อาจจะกลัวและส่งกลิ่นที่ทำให้สุนัขแปลเจตนาผิดได้เหมือนกัน  ในทำนองเดียวกัน  ขโมย
บางรายก็อาจจะไม่ตื่นเต้น  ไม่กลัว  เข้ากับสุนัขได้ดีจนมันไม่เฉลียวใจมันเลยไม่เห่าเตือน  เผลอ ๆ ยังกระดิกหางเข้าไปเล่นด้วยก็มี   ทางที่ดีเพื่อความปลอดภัยจึงไม่ควรปล่อยให้สุนัขเป็นคนตัดสินใจว่า ใครเป็นมิตร หรือศัตรู  ฝึกให้มันเห่าคนทุกคนที่เข้ามาในบริเวณบ้าน และจะหยุดเห่าก็ต่อเมื่อคนในบ้านสั่ง

 

     สุนัขสำหรับเฝ้ายามจริง ๆ   ต้องได้รับการฝึกเป็นพิเศษนอกเหนือไปจากสุนัขทั่วไป  ปกติแล้วเจ้าของจะไม่รู้วิธีฝึกที่เหมาะสม ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะฝึกให้       ถ้าคุณไม่ได้เป็นมหาเศรษฐีมีบ้านใหญ่โตที่จำเป็นต้องมีสุนัขยามเฝ้าตลอดเวลา  ก็ไม่ควรขวนขวายหาสุนัขประเภทนี้มาเลี้ยง เพราะมันได้รับการฝึกหัดมาให้จู่โจมคน  คุณต้องรู้จักวิธีควบคุมที่ถูกต้อง มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายได้นอกจากนี้ยังยุ่งยากในการเลี้ยงดู ซึ่งต้องหาที่อยู่ และอาการให้เป็นพิเศษอีกด้วย

     สำหรับชาวบ้านทั่ว ๆ ไป  แค่อาศัยเลี้ยงสุนัขไว้ให้มันเห่าเตือนเวลามีคนมาก็พอถมเถไปแล้ว  ที่สำคัญคือสอนให้มันรู้แต่เล็กว่า เห่าเฉย ๆ พออย่ากัด  เจ้าของจะพลอยเดือดร้อนเสียเงินค่ายา และค่าทำขวัญไปอีก  ถ้าเผอิญสุนัขของคุณไม่มีทีท่าว่าจะยอมรับหน้าที่เฝ้าบ้าน อย่าว่าแต่กัดเลย    เห่าสักแอะหนึ่งก็ไม่เคยอย่างนี้ก็ต้องสอนกันหน่อย  จับตัวเข้ามาไว้ในบ้านพอมันเห่าคนหรือของแปลกๆ ก็ให้รีบยอมันเข้ามาก ๆ  ไม่ช้ามันก็จะเรียนรู้ไปเองว่า คนชอบให้เห่า    ถ้าคุณมีสุนัข 2 ตัวยิ่งง่ายใหญ่  เพราะตัวโตจะสอนตัวเล็กลง  แต่ถ้ามีสุนัขประเภทปากเปราะ  วิ่งงุ่นง่ามเห่าไม่เลือกหน้า  ห้ามไม่หยุดอยู่ตัวหนึ่งแล้วละก็ อย่าได้ปล่อยให้มันสอนกันเองเด็ดขาด จับสุนัขตัวใหม่มาฝึกให้ถูกวิธีเสียแต่ต้นมือ

 

ภาพจากหนังสือการ์ตูน ขายหัวเราะ

 

     ผู้เขียนไม่เคยกลัวสุนัข  และคิดว่าถ้าเราเข้มแข็งจัดการกับมันอย่างเฉียบขาด สุนัขจะเคารพ และไม่กล้าหือกับคน  ซึ่งเป็นสัมพันธภาพที่ควรเป็นระหว่างคนกับสุนัข   ดังนั้นถ้าสุนัขของคุณมีปัญหาควบคุมไม่อยู่ก็ควรขอคำแนะนำจากผู้ชำนาญการฝึกสุนัขโดยเฉพาะ

     สุนัขบางตัว ไม่สามารถจะเป็นสุนัขเฝ้าบ้านได้เลย ไม่ว่าจะฝึกหัดอย่างไรเพราะมันมองโลกในแง่ดีเป็นมิตรกับคนมากเกินไป มีทางเดียงเท่านั้นที่พอจะทำได้คือ หาสุนัขตัวใหม่มาเฝ้าบ้าน

 
Back
หน้าหลัก
เก็บมาฝาก
Next
 
ชมรมผู้เลี้ยงและผู้ฝึกสุนัข เอส.เจ.ฯ/K9