บทสัมภาษณ์พิเศษ

 

พันตำรวจเอกวีระพงษ์  สุนทรางกูร
ผู้กำกับการสำนักงานตำรวจสันติบาล
อดีตนายกสมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัข
(ประเทศไทย) 2542

"สุนัขร๊อตไวเลอร์ เลี้ยงได้แต่...ต้องฝึก"

 

      พ.ต.อ.วีระพงษ์  สุนทรางกูร อดีตนายกสมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัข (ประเทศไทย) ได้กล่าวถึงข่าวที่สุนัขพันธุ์ร๊อตไวเลอร์ ชื่อ "เจ้าหมี" อายุ 6 ปี ได้กัดทำร้าย ด.ญ.อรจิรา หรือน้องออย สุขสวัสดิ์ อายุ 3 ขวบ จนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 17/12/43 ซึ่งเป็นสาเหตุให้อธิบดีกรมปศุสัตว์มีคำสั่งห้ามนำเข้าสุนัขพันธุ์ร๊อตไวเลอร์จากต่างประเทศ.....

    
คำสั่งห้ามนำเข้าสุนัขพันธุ์ร๊อตไวเลอร์ของอธิบดีกรมปศุสัตว์ ท่านมีความเห็นเรื่องนี้อย่างไรครับ?
     "ผมไม่เห็นด้วยในคำสั่งที่ห้ามไม่ให้นำเข้าสุนัขพันธุ์ร๊อตไวเลอร์จากต่างประเทศ สุนัขร๊อตไวเลอร์ที่นำเข้าจากต่างประเทศมีทั้งหมดไม่ถึง 300 ตัว ส่วนสุนัขร๊อตไวเลอร์ที่เกิดในประเทศมีถึงประมาณ 8,000 ตัว และได้จดทะเบียนสายพันธุ์กับสมาคมพัฒนาฯ แล้ว ประมาณ 2,000 กว่าตัว คำสั่งการห้ามนำเข้าไม่ทำให้สุนัขร๊อตไวเลอร์ที่อยู่ในประเทศหายดุได้ หรือปัญหาสุนัขกัดเด็กตายจะไม่เกิดขึ้นอีก สุนัขพันธุ์ร๊อตไวเลอร์มีปัญหาเพียงตัวเดียวที่เกิดจากผู้เลี้ยงไม่มีคุณภาพ ไม่น่าเป็นปัญหาของสุนัขพันธุ์นี้ทั้งหมด หรือถ้าหากว่า มีสุนัขพันธุ์อื่น ๆ กัดใครตายอีก รัฐบาลก็คงจะสั่งห้ามนำเข้าอีก ผมว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ตรงประเด็น และไม่ได้ผล เราน่าจะดูแลผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้ให้มีคุณภาพ ในด้านการเลี้ยง การฝึก การคัดพันธุ์ โดยอยู่ภายใต้คำแนะนำของทางสมาคมฯ อย่างเคร่งครัด"

    
ท่านคิดว่า สุนัขร๊อตไวเลอร์เป็นสุนัขอารักขาได้หรือไม่ครับ?
     "สุนัขพันธุ์ร๊อตไวเลอร์เป็นสุนัขสายพันธุ์อารักขาอยู่แล้ว แต่เราจำเป็นต้องฝึกให้สุนัขมีเหตุ มีผล รู้ว่าเวลาไหนควรจะกัด หรือไม่ควรกัด แล้วเราก็สามารถให้คำสั่งหยุดพฤติกรรมบางอย่างได้ ในเวลาที่เราไม่ต้องการด้วย"

    
เรื่องที่เกิดขึ้น ท่านคิดว่า เป็นความผิดของสุนัขใช่มั๊ยครับ?
     "เราจะไปโทษสุนัขอย่างเดียวคงไม่ได้ เรื่องนี้เราต้องรู้ข้อเท็จจริงว่า เรื่องเป็นอย่างไรมาก่อน สุนัขพันธุ์ร๊อตไวเลอร์ หรือสุนัขพันธุ์ใหญ่ ไม่ควรเลี้ยงแบบขังมากเกินไป เพราะจะทำให้สุนัขดุ เราควรจะให้สุนัขได้มีสังคมโดยการพาออกเดิน วิ่ง เพื่อให้ได้มีการออกกำลังกายบ้าง เราต้องดูการเลี้ยง ดูสภาพแวดล้อมของสุนัขตัวนั้น ซึ่งอาจจะอยู่ในช่วงกำลังเจ็บป่วย หรือถูกกักขังมากเกินไป จนทำให้สุนัขมีอารมณ์แปรปรวน ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ เราไม่ควรปล่อยให้สุนัขใหญ่อยู่กับเด็กตามลำพัง และกรงของสุนัขก็น่าจะมีความแข็งแรงรัดกุม ไม่ใช่สุนัขสามารถดันออกมาได้ แต่อย่างไรก็ดี ในเรื่องนี้เจ้าของสุนัขก็ไม่อาจหลุดพ้นความรับผิดชอบแน่นอน"

    
ท่านคิดว่า ถึงเวลาหรือยังที่เจ้าของสุนัขพันธุ์ใหญ่ ควรจะส่งสุนัขที่เลี้ยงเข้าโรงเรียนฝึก?
     "ก็น่าจะถึงเวลาแล้ว สำหรับผู้ที่เลี้ยงสุนัขพันธุ์ใหญ่แล้วไม่ฝึกสุนัขด้วยตัวท่านเอง การส่งเข้าโรงเรียนเป็นการช่วยสุนัขได้มาก ที่พูดมานี้ผมหมายถึง โรงเรียนสุนัขที่มีประสบการณ์ในการสอนมานานเพียงพอ และมีสถาบัน หรือหน่วยงานราชการให้การรับรอง หรือมีผลงานน่าเชื่อถือโดยการตรวจสอบจากลูกค้าเก่า ๆ บุคลากรครูผู้ฝึกสอนสุนัขมีคุณภาพ เอาใจใส่ดูแลสุนัขดี เมื่อสุนัขเรียนจบแล้วผ่านการสอบโดยกรรมการตัดสินผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันใน หรือต่างประเทศ เพื่อเป็นการวัดผลการเรียนของสุนัขว่า มีความสามารถตรงตามที่ได้รับการฝึกมาจริงหรือไม่"


    
สมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัข (ประเทศไทย) จะจัดงานประกวดสุนัขเป็นประจำ ผู้อ่านท่านใดมีความสนใจจะส่งสุนัขเข้าประกวด หรือสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัข (ประเทศไทย) กรุณาติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่สมาคมฯ โทร. 02-990-3618 และ 02-990-3428 ในวันและเวลาราชการ

 
Back
หน้าหลัก
ผลการสอบ
Next
 
ชมรมผู้เลี้ยงและผู้ฝึกสุนัข เอส.เจ.ฯ/K9